วันอังคารที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2551

history

องค์กร
หอศิลป์อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พื้นที่
ห้องจัดแสดงชั้น 1 จำนวน 2 ห้อง ขนาด 9 x 22 เมตร
ห้องจัดแสดงชั้น 2 จำนวน 1 ห้องขนาด 31 x 12.5 เมตร

ประวัติการก่อตั้ง

เมื่อประมาณ 30 ปีที่ผ่านมา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยที่ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล เป็นอธิการบดีได้แสดงว่าเห็นถึงความสำคัญของงานศิลปกรรมที่มีคุณค่าของศิลปินไทยในปัจจุบัน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2516 ได้เริ่มรวบรวมและจัดหางานศิลปกรรมของศิลปินที่มีชื่อและมีศักยภาพในตอนนั้น ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2527 จึงจัดให้มีโครงการรวบรวมผลงานศิลปกรรมขึ้น โดยมอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการมาเป็นระยะเวลามาเกือบ 20 ปี งานศิลปกรรมดังกล่าวได้นำไปติดตั้งในอาคารต่างๆภายในมหาวิทยาลัยเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศทางศิลปะอันจะนำไปสู่การปลูกฝังสุนทรียศิลป์ และการจรรโลงจิตใจของชาวจุฬาฯโดยทั่วไป ตลอดจนผู้พบเห็น
ผลงานศิลปกรรมเท่าที่รวบรวม และจัดหามาได้มีจำนวนมาก จนปัจจุบันนับได้ว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งใหญ่แหล่งหนึ่งของประเทศไทย และสามารถแสดงถึงวิวัฒนาการของศิลปกรรมในประเทศไทยตั้งแต่เริ่มแรกของยุคศิลปะเฟื่องฟูมาจนถึงปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเห็นควรจัดตั้งหอศิลป์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการสานต่อความคิดในเชิงสนับสนุน สร้างสรรค์ และเผยแพร่งานศิลปกรรมและศิลปินไทยอีกขั้นหนึ่ง โดยได้กำหนดฤกษ์อันเป็นมงคลยิ่งในวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธันวาคม 2544 ในฐานะที่ทรงเป็นองค์อัครศิลปินของชาติ

วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งหอศิลป์จามจุรีคือ
1. เพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงและเผยแพร่งานศิลปะสู่สาธารณชน ตลอดจนเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิและสนใจ
2. เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่งานศิลปกรรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมถึงหน่วยงานภายในที่ได้รวบรวมไว้
3. เพื่อเป็นสถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะของอาจารย์ นิสิตนักศึกษา บุคลากร ศิลปินโดยทั่วไป

รูปแบบของงานนิทรรศการที่จะจัดแสดงภายในหอศิลป์
ผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และประยุกต์ศิลป์

การขอใช้พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ
ศิลปินจะต้องมาติดต่อขอแบบฟอร์มขอใช้หอศิลป์ ณ หอศิลป์จามจุรี